รวมที่เที่ยว จ.พะเยา
อ.เชียงม่วน
วัดท่าฟ้าใต้
วัดท่าฟ้าใต้ เป็นวัดที่สร้างตามรูปแบบศิลปะไทลื้อที่งดงามมาก วิหารมีรูปแบบศิลปะไทลื้อ ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงแป้นเกล็ดซ้อนกัน ๓ ชั้น หน้าบัน เป็นลายเครือเถาแบบไทลื้อที่ประยุกต์ลายมาจากธรรมชาติ มีลายดอกไม้บานอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยกระจกเงา โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งสะท้อนความชั่วร้ายมิให้มาทำร้ายกล้ำกรายได้ ใบระกาเป็นไม้สัก แกะสลักเป็นรูปพญานาค เชิงชายฉลุลายน้ำหยด เอกลักษณ์ของไทลื้อ
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาแกะสลักจากไม้ประดู่ หน้าตักกว้าง ๑๑๒.๕ ซม. สูง ๒๒๗.๕๐ ซม.ฐานชุกชีเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ตกแต่งด้วยลายเครือเถา และประดับกระจกสีเขียว อันหมายถึงนกยูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแคว้นสิบสองปันนา ภายในวิหารมีตุงหลากสีที่แขวนอยู่ ชาวไทลื้อนิยมถวายตุงเพราะเชื่อว่า ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะได้เกาะชายตุงขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ประวัติความเป็นมา สันนิษฐานว่า ชาวไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา เป็นผู้สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สร้างตามรูปแบบศิลปะไทลื้อที่งดงามยิ่ง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔
ที่ตั้งของวัดท่าฟ้าใต้อยู่ที่บ้านฟ้าสีทอง ต.สระ อ.เชียงม่วน จากอำเภอดอกคำใต้ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๕๑ ไปทางอำเภอเชียงม่วนจนถึงสามแยกบ้านสระ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ ไปอีกประมาณ ๗ กิโลเมตร วัดอยู่ทางขวามือ ถ้าใช้เส้นทาง ๑๐๙๑ ต่อไปอีกประมาณ ๑๕ กิโลเมตรจะถึงอำเภอปง เบอร์โทรติดต่อ ๐๘-๖๑๘๐๖๗๗๕
วนอุทยานไดโนเสาร์เชียงม่วน-แก่งหลวง
ไดโนเสาร์เชียงม่วนเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกที่ค้นพบในภาคเหนือ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๕๒ นายวรวุธ สุธีธร นักโบราณชีววิทยา หัวหน้าคณะสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีได้นำคณะสำรวจเข้ามาทำการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ที่พบที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา พบซากกระดูกไดโนเสาร์วางตัวเรียงต่อกันในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ จำนวน ๑๐๔ ชิ้น ประกอบด้วยกระดูกคอ กระดูกสันหลัง กระดูกโคนหาง กระดูกสะโพกและกระดูกซี่โครง ผลการตรวจสอบทำให้ทราบว่าซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบเป็นซากไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีคอยาว หางยาว เดิน ๔ ขา และกินพืชเป็นอาหาร ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุชนิดได้ แต่พบว่ามีลักษณะต่างจากไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดอื่นๆที่เคยพบในประเทศไทย สันนิษฐานว่าอาจเป็นชนิดพบใหม่ของโลก เนื่องจากแหล่งที่พบเป็นพื้นที่ใหม่ที่เพิ่งมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์เป็นครั้งแรก
ใกล้ๆ กันเป็นที่ตั้งของแก่งหลวง เป็นโขดหินขนาดใหญ่ที่ตั้งขวางลำน้ำยม ริมสองฝั่งเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ เป็นที่พักผ่อนของคนเชียงม่วน ช่วงฤดูฝนสามารถนั่งแพล่องแก่งได้
วนอุทยานไดโนเสาร์เชียงม่วน-แก่งหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกลาง ต.บ้านมาง จากแยกบ้านบ่อเบี้ย ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๕๑ ไปทางอ.เชียงม่วนจนถึงสี่แยกบ้านมาง ให้เลี้ยวขวาไปประมาณ ๔ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งบริเวณบ้านปงสนุกไปตามทางอีกประมาณ ๔ กิโลเมตรถึงวนอุทยานไดโนเสาร์เชียงม่วน-แก่งหลวง
ฝั่งต้าไชยสถาน
ฝั่งต้าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ฝั่งต้าไชยสถาน มีลักษณะของการกัดเซาะพังทลายของดินภูเขาเตี้ยๆ ทำให้เกิดรูปร่างคล้ายเสาแหลมๆเรียงรายติดต่อกันเป็นแนวยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร มีความสูงประมาณ ๒๕ เมตร บนยอดเขาฝั่งต้าแห่งนี้ยังเป็นจุดชมวิวและพักผ่อนได้ มีเนื้อที่ค่อนข้างราบประมาณ ๓ ไร่ สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามรอบด้าน ใกล้ๆกันมีสระน้ำอยู่ด้านหน้า มีสถานที่จัดไว้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สามารถมองเห็นฝั่งต้าถัดไปจากสระน้ำแห่งนี้ ฝั่งต้าไชยสถานตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จากที่ว่าการอำเภอเชียงม่วนระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร
พระธาตุภูปอ
พระธาตุภูปอตั้งอยู่ในเขตบ้านหนองกลาง ม.7 ต.บ้านมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ห่างจากถนนสายบ้านปงสนุก บ้านหนองกลาง ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถนนตัดขึ้นสู่พระธาตุเป็นถนนคอนกรีตสูงชันจากจุดที่พระธาตุตั้งอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ ๓๖๐ องศา มองเห็นชุมชนของอำเภอเชียงม่วนเป็นอย่างดี เช่น บ้านมาง บ้านหลวง และยังสามารถมองเห็นฝั่งต้าได้อย่างชัดเจน ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เขาลูกนี้ ชาวบ้านต่างนำเครื่องอุปโภคไปถวาย และสิ่งที่มีมากเป็นพิเศษคือใบพลูได้นำมาถวายจนกองเป็นภูเขาพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสห้ามว่า "พลูพอแล้วนะ" หรือภาษาคำเมืองว่า "ปูปอแล้ว" ดังนั้นพระธาตุนี้ จึงมีชื่อว่า "พระธาตภูปอ"
เหมืองเชียงม่วน
เหมืองเชียงม่วนในความดูแลของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในตำบลบ้านสระ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา บนเนื้อที่รวม ๒,๕๗๐ ไร่ ดำเนินการผลิตถ่านหินเชิงพาณิชย์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ถ่านหินของเหมืองเชียงม่วนเป็นถ่านหินประเภทลิกไนต์ มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้กับลูกค้าภายในประเทศ ทั้งในธุรกิจไฟฟ้า ซีเมนต์และเยื่อกระดาษ ได้มีการขุดพบซากฟอสซิลภายในบริเวณเหมืองมากมายหลายชนิด ซากฟอสซิลที่พบส่วนใหญ่จะเป็นกระดูกและฟันของช้างไตรโลโฟดอน กอมโฟแทร์ (Triphodont Gomphothere) ซึ่งเป็นช้างโบราณที่มี ๔ งา จระเข้ ปลา อีเก้ง หมู ลิงอุรังอุตัง เต่า หอยชนิดต่างๆและเมล็ดพืชโบราณ ซึ่งซากฟอสซิลเหล่านี้มีอายุในช่วงยุคไมโอซีน (Myosin) ตอนกลางหรือราว ๑๓-๑๕ ล้านปีก่อน ที่ตั้งเหมืองเชียงม่วน จากอำเภอเชียงม่วนไปตามเส้นทางหมายเลข ๑๐๙๑ มุ่งหน้า อ.ปง พอถึงทางแยกบ้านสระให้เลี้ยวไปทางซ้ายมือที่จะไปอำเภอดอกคำใต้ ตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๕๑ จากทางแยกนี้ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ทางด้านขวามือจะเป็นที่ตั้งของจุดชมวิวของเหมืองเชียงม่วน
อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง
อุทยานแห่งชาติดอยภูนางมีสิ่งน่าสนใจมากมายโดยเฉพาะนกยูงและน้ำตกต่างๆ มีเนื้อที่ประมาณ ๕๓๘,๑๒๘ ไร่ หรือ ๘๖๑ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๓ อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงม่วน อ.ปง อ.ดอกคำใต้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เสือปลา แมวลายหินอ่อน แมวดาว เลียงผา ตัวนิ่ม ฯลฯ ที่สำคัญคือ นกยูง จะพบเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในเขตอุทยานดอยภูนางมีนกยูงอยู่ประมาณ ๒๖๕ ตัว เป็นนกยูงไทยหรือนกยูงเขียว ออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ ๓-๕ ตัว บางครั้งมีการรวมฝูงกันมากถึง ๓๐ ตัว พบมากบริเวณใกล้ที่ทำการอุทยานตามบริเวณสันเขา มีเส้นทางชมนกยูงใกล้ที่ทำการ เป็นลานจับคู่ผสมพันธุ์ นกยูงตัวผู้จะรำแพน หางอวดสีสันลวดลาย เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ตัวเมียจะวางไข่ตามพื้น เมื่อฟักเป็นตัวมันจะเลี้ยงดูแลลูกจนถึง ๑ ปี จึงแยกออกจากฝูงได้ ที่ทำการอุทยานฯจะมีนกยูงที่คุ้นเคยออกมาโชว์ตัวให้เห็น อวดโฉมแก่นักท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯแห่งนี้จะได้พบกับนกยูงอย่างแน่นอน
สิ่งน่าสนใจต่อมาคือ
น้ำตกธารสวรรค์
ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯนัก จะต้องเดินเท้าลงเขาตามขั้นบันไดและเดินต่อในทางราบ ไปประมาณ ๓๐๐ เมตร น้ำตกเกิดจากลำห้วยหลายสายคือ ห้วยสองสบ ห้วยโปง ห้วยอูน และตาน้ำบ่อเบี้ย ไหลรวมกันเป็นห้วยแม่ปั๋ง แล้วไหลลงจากหน้าผาหินปูน สูงประมาณ ๑๕ เมตร ท่ามกลางแมกไม้ขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งทีเดียว
น้ำตกตาดปู่เข่ง
อยู่ห่างจากที่ทำการไปประมาณ ๕ กิโลเมตร จะต้องเดินเท้า ๑.๕ กิโลเมตร รถสามารถไปได้เพียง ๓.๕ กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ไหลผ่านลานหินกว้างราว ๒๐ เมตร บรรยากาศร่มรื่นน่าพักผ่อน
น้ำตกห้วยต้นผึ้ง
เป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาหลายชั้นตามหน้าผาหินปูน สูงประมาณ ๘๐ เมตร มีน้ำตลอดทั้งปี รอบๆมีป่าที่มีความสมบูรณ์สูง เส้นทางสู่น้ำตกค่อนข้างเปลี่ยว จึงควรเดินทางกันไปเป็นกลุ่ม เพื่อความปลอดภัย ที่ตั้งของน้ำตกจากแยกบ้านบ่อเบี้ย ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๕๑ ไปทางอ.เชียงม่วน จนถึงกิโลเมตรที่ ๕๓ ทางเข้าน้ำตกอยู่ทางขวามือ น้ำตกอยู่ห่างจากถนนประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร
ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง บ้านบ่อเบี้ย ต.บ้านบาง อ.เชียงม่วน จากอำเภอดอกคำใต้ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๕๑ ไปทางอ.เชียงม่วน ถึงแยกบ้านบ่อเบี้ย ให้เลี้ยวขวา จากแยกไปประมาณ ๓ กิโลเมตร จะมีป้ายที่ทำการอยู่ทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวเข้าไปอีก ๑ กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยาน ติดต่อบ้านพัก โทร. ๐-๒๕๖๒-๐๗๖๐, ๐-๕๔๔๘-๙๒๐๒, ๐๘-๑๘๕๕-๕๒๑๔
อ.เชียงคำ
วัดนันตาราม
ตั้งอยู่บริเวณตลาดเทศบาลตำบลเชียงคำ ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด
เป็นวัดประจำชุมชนชาวไทยใหญ่ เดิมเรียก วัดจองคา เพราะมุงด้วยหญ้าคา (คำว่า จอง
เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึงวัด) พุทธศาสนิกชนชาวไทยใหญ่เป็นผู้สร้าง โดย พ่อหม่อง
โพธิ์ขิ่น บริจาคที่ดินเนื้อที่ ๓ ไร่เศษ เป็นสถานที่ก่อสร้าง พ่อเฒ่าอุบล เป็นประธานในการก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อย
มีฐานะเป็นอารามหรือสำนักสงฆ์ ประชาชนทั่วไปนิยมเรียก วัดจองเหนือ
เพราะอยู่ทางทิศเหนือของเทศบาลเชียงคำ สร้างวิหารไม้ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ แม่นางจ๋ามเฮิง
ได้บริจาคที่ดินเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๗๒ ตารางวา สำหรับขยายอาณาเขตของวัด รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น
๘ ไร่ ๑ งาน ๗๒ ตารางวา วิหารหลังปัจจุบัน พ่อเฒ่านันตา (อู๋) วงศ์อนันต์
คหบดีชาวไทยใหญ่ผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ได้บริจาคทรัพย์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังใหม่แทนวิหารที่มุงหญ้าคา
โดยว่าจ้างชาวไทยใหญ่มาออกแบบและทำการก่อสร้างเป็นวิหารไม้ทั้งหลัง
รูปทรงแบบไทยใหญ่ หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงด้วยแป้นเกร็ด
(กระเบื้อง ไม้) เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิศดาร ไม้ซ้ำกัน เสาทั้ง
๖๘ ต้นลงรักปิดทอง ค่าก่อสร้างประมาณ ๔๕,๐๐๐ บาทเศษ
อัญเชิญพระประธาน พระประธานในวิหารปัจจุบัน ไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใด
(คาดว่านำมาจากประเทศพม่า)
พ่อเฒ่านันตาได้ว่าจ้างและไหว้วานชาวบ้านประมาณ
๘๐ คน อัญเชิญมาจากวัดจองเหม่ถ่า ซึ่งเป็นวัดร้างในชุมชนไทยใหญ่ เดิมที่อำเภอปง
(ปัจจุบันเป็นสถานีอนามัยบ้านดอนแก้ว ตำบลออย อำเภอปง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
แกะสลักจากไม้สักทอง ทั้งต้นลงสักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่สวยงามมาก
ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๑ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศา ๙ ศอก ประดิษฐานบนฐานไม้
มีแผงไม้กั้นด้านหลังประดับประดากระจกสีที่สวยงาม ประกอบด้วยไม้ฉลุและแกะสลักลายเครือเถา
เทวดาและสัตว์ป่าหิมพานต์ การจัดงานฉลองวัดครั้งแรก
การปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัดจองคาครั้งใหญ่ใช้เวลาร่วม ๑๐ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ.
๒๔๗๗ พ่อเฒ่า นันตา (อู๋) ได้เป็นประธานจัดงานฉลองครั้งใหญ่ขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๑๕
มีนาคม ๒๔๗๗ ๑๕ วัน ๑๕ คืน นอกจากการทำบุญและจัดมหรสพสมโภชน์แล้ว
ยังมีการตั้งโรงทาน แจกจ่ายวัตถุทานแก่ยาจกวณิพกและคนยากจนทั่วไปจำนวนมากอีกด้วย
นับเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่และเป็นครั้งแรกของวัดจองคำ พ่อเฒ่านันตา (อู๋)
ต้นตระกูล วงศ์อนันต์ คหบดีที่มีจิตใจศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ตั้งใจปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนมิได้ขาด มีความเพียรในการรักษาอุโบสถศีล
นอนวัดตลอดฤดูพรรษา ทั้งยังเสียสละบริจาคทรัพย์
เป็นเจ้าศรัทธาในการปฏิสังขรณ์เสนาสนะและสร้างวิหารถวายเป็นสมบัติในพุทธศาสนา
ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยใหญ่แ ละประชาชนทั่วไปเป็นพ่อจองตะก่านันตา
(คำว่า พ่อจอง หมายถึง ผู้สร้างวัด/ ตะก่า หมายถึง
ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลและนอนวัดตลอดพรรษา)
เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและเป็นอนุสรณ์ของพ่อเฒ่านันตา (อู๋)
จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก วัดจองคา เป็น วัดนันตาราม เป็นเกียรติแด่ท่านและตระกูล “วงศ์อนันต์”
โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ
๑.
วิหารไม้ รูปทรงแบบไทยใหญ่ สร้าง พ.ศ. ๒๔๖๘
๒.
พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย ไม้แกะสลักศิลปะไทยใหญ่ อัญเชิญมาประดิษฐาน พ.ศ.
๒๔๗๖
๓.
เจดีย์แบบไทยใหญ่ สร้างด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแปดเหลี่ยม สูง ๙ ศอก สร้าง พ.ศ. ๒๕๐๐
๔.
พระอุโบสถ สร้างด้วยอิฐถือปูน รูปทรงไทยใหญ่ สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๕
๕.
พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ สร้างจากไม้หอมนานาชนิดในเมืองต่องกี ประเทศพม่า
นำมาตากแห้งและบดให้ละเอียด ผสมกับยางรัก
เถ้าฟางเผ่าคลุกกับดินจอมปลวกหรืออิฐปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง พ่อเฒ่าผก่า
หัวอ่อนแม่เฒ่าป้องสุมาลย์เจริญ สร้างถวาย
๖.
พระเจ้าแสนแซ่ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง /
๙ นิ้ว สูง ๒๔ นิ้ว แม่เฒ่าบัว ได้บูชามาจากพ่อเฒ่าส่างติ (พี่ชาย) ในราคา ๑ ชั่ง
(๘๐ บาท) นำมาถวายวัด (ปลัดอำเภอท่านหนึ่งว่าจ้างเกวียนชาวบ้านในราคา ๗๕ สตางค์
บรรทุกมาจาก บ้านถ้ำ ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ
นำมาตั้งไว้ใต้ถุนเรือนพ่อเฒ่าส่างติ) กรมศิลปากร
ได้จดทะเบียนรับรองเป็นวัตถุโบราณไว้แล้ว
๗.
พระพุทธรูปหินขาว (หยกขาว) ศิลปะแบบพม่า หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๑๘ นิ้ว
แม่คำหล้า วาระกุล สร้างถวาย
วัดพระนั่งดิน แหล่งท่องเที่ยว Unseen In Thailand : ประเภทมุมมองใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
มีตำนานกล่าวถึงประวัติพระเจ้านั่งดินไว้ว่า
พระยาครองเมืองพุทธรสะได้ค้นพบประวัติ(ตำนาน) เมื่อนมจตุจุลศักราช 1,213 ปีระกา เดือน 6 วันจันทร์
พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดเมตตาสรรพสัตว์ จนเสด็จถึงเตเวียงพุทธรสะ(อำเภอเชียงคำในปัจจุบัน)
พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่บนดอยสิงกุตตระ(พระธาตุดอยคำในปัจจุบัน)
ทรงแผ่เมตตาประสาทพรตรัสให้พระยาคำแดงเจ้าเมืองพุทธรสะในขณะนั้น
สร้างรูปเหมือนของพระองค์ไว้ที่เมืองพุทธรสะนี้
ครั้งเมื่อทรงตรัสจบก็ปรากฎมีพระอินทร์ 1 องค์ พระยานาค 1 ตน ฤษี 2 องค์
และพระอรหันต์ 4 รูป ช่วยกันเนรมิตรูปเหมือนจากดินศักดิ์สิทธิ์ ณ
เมืองลังกา ใช้เวลา 1 เดือน กับ 7 วัน
จึงแล้วเสร็จ เมื่อพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ทั่วถึงแล้ว
ได้เสด็จสู่เมืองพุทธรสะอีกครั้ง ทรงเห็นรูปเหมือนนั้นมีขนาดเล็กกว่าองค์ตถาคต
จึงตรัสให้เอาดินมาเสริม
แล้วพระพุทธเจ้าได้แผ่รัศมีออกครอบจักรวาลรูปเหมือนนั้นให้เลื่อนลงจากฐาน ชุกชี
มากราบไหว้พระองค์ พระพุทธเจ้าตรัสกับรูปเหมือนว่า
"ขอให้ท่านจงอยู่รักษาศาสนาของกูตถาคตให้ครบ 5,000 พระพรรษา"
รูปเหมือนน้อมรับ และประดิษฐานอยู่ ณ พื้นดินที่นั้นสืบมา
วัดพระนั่งดินตั้งอยู่ที่บ้านพระนั่งดิน หมู่ที่ 7 ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
เป็นวัดที่มีความสำคัญ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงคำและพื้นที่ใกล้เคียง
และถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอำเภอเชียงคำมาช้านาน
ภายในอุโบสถมีการตกแต่งประดับประดาด้วยตุง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ศิลปะของชาวเหนือ
และเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน ซึ่งมีความแปลกแตกต่างจากพระพุทธรูปโดยทั่วไป
ด้วยไม่มีฐานชุกชีรองรับ พระพุทธรูปจึงนั่งอยู่บนพื้น พระพุทธรูปรูปนี้พุทธลักษณะแม้ไม่งดงามนัก
ด้วยอาจเป็นฝีมือช่างพื้นบ้านอันสร้างมาเก่าแก่โบราณจนสืบค้นประวัติมิได้ ตามตำนานกล่าวว่า
พระพุทธรูปนี้สร้างตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
ดังนั้น พระเจ้านั่งดินน่าจะมีอายุกว่า ๒๕๐๐ ปี ในการสร้างพระพุทธรูปนี้ใช้เวลา ๑
เดือน ๗ วัน จึงเสร็จ เมื่อสร้างเสร็จได้ประดิษฐานไว้บนพื้นราบ
ไม่มีฐานชุกชีดังพระพุทธรูปอื่นๆทั่วไป ชาวบ้านเคยสร้างฐานชุกชีและอัญเชิญองค์พระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน
แต่ปรากฏว่ายกไม่ขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ จึง เรียกขานนามสืบต่อกันมาว่า พระนั่งดิน
หรือพระเจ้านั่งดิน
การเดินทางไปวัด
ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๔๘ ลงไปทางทิศใต้ ห่างจากอำเภอเชียงคำ ๔ กิโลเมตร
วัดพระนั่งดินตั้งอยู่ทางขวามือ อยู่ในเขตตำบลเวียง อ.เชียงคำ
วัดพระธาตุสบแวน
ที่วัดพระธาตุสบแวนแห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง
มีบ้านชาวไทลื้อ มีต้นจามจุรีขนาดใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี มีเจดีย์อายุเก่าแก่กว่า ๘๐๐
ปี บ้านชาวไทลื้อที่ตั้งอยู่ภายในวัดมีศูนย์หัตถกรรมทอผ้า
จากผู้หญิงสูงอายุในหมู่บ้าน มีงานหัตถกรรมจากผ้าฝ้าย
มีให้ซื้อขายและได้ชมวิธีการทอผ้า และสามารถเข้าชมเรือนไทลื้อ
เพื่อรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อได้อย่างละเอียด
พระธาตุสบแวนอยู่ด้านหลังวิหาร เป็นเจดีย์เก่าแก่อายุมากกว่า ๘๐๐ ปี ภายในบรรจุเส้นเกศาและกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้า
องค์พระธาตุได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง พระธาตุเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา
ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ไม่ใหญ่นัก ทาสีขาว องค์ระฆังเป็นสีทอง ส่วนยอดมีฉัตรทอง
มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีรูปปั้นสิงห์อยู่ทั้งสี่มุม บริเวณทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์อีกด้านละ
๒ ตัว ด้านหน้ามีหอระฆังสีขาว ประดับด้วยปูนปั้นรูปหงส์และนกยูง
ตกแต่งด้วยกระจกชิ้นเล็กๆอย่างสวยงาม
เนื่องจากบริเวณนี้มีสายน้ำที่ไหลบรรจบกันสองสายคือ แม่น้ำแวนกับแม่น้ำฮ่อง
วัดจึงได้ชื่อว่า วัดสบแวน
บริเวณโรงเรียนด้านหน้าของวัดมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่
อายุกว่าร้อยปี ว่ากันว่าเป็นต้นจามจุรีที่สวยที่สุดในประเทศไทย มีความสูง ๑๗ เมตร
เส้นรอบวงลำต้นมีขนาด ๕.๗๕ เมตร แผ่กิ่งก้านออกไปรอบทิศทาง
เส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มประมาณ ๔๓ เมตร นับว่าใหญ่มากและสวยงาม
ที่ตั้งของวัดพระธาตุสบแวน จากเชียงคำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ไปทางแยกแช่แห้ง
ผ่านโรงเรียนคุณากรวิทยา ผ่านร้านอาหารเพชรไปประมาณ ๓๐๐ เมตร
พบทางแยกเข้าวัดทางขวา เลี้ยวเข้าไปประมาณ ๒๐๐ เมตร
วัดอยู่ทางซ้ายมือติดกับโรงเรียนอนุบาลเชียงคำ
วัดแสนเมืองมา
วัดแสนเมืองมา
มาจากชื่อหมู่บ้านมางในสิบสองปันนา ประเทศจีน วัดสร้างตามแบบศิลปะไทลื้อ
ป้ายต่างๆในบริเวณวัดมีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน
เนื่องจากมีชาวไทลื้อเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับสิบสองปันนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
หลังคามุงแป้นเกล็ดไม้งดงามมาก เป็นศิลปะไทลื้อ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพนม
บนพื้นสลักลายสวยงาม บันไดทางเข้าเป็นรูปพญานาค
ประตูด้านข้างทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตู
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน
บอกเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ การบวชพระ การทำบุญ
การเล่นน้ำสงกรานต์ วิถีชีวิตในชนบทและประเพณีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีธง (ตุง)
แขวนไว้
ตามความเชื่อว่าเป็นการอุทิศให้กับผู้ล่วงลับเพื่อเป็นบันไดขึ้นสู่สรวงสวรรค์
ชาวไทลื้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในสิบสองปันนา
มีการไปมาหาสู่กับชาวล้านนามาอย่างยาวนาน วัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกัน
ชาวไทลื้อมักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำในเขตภาคเหนือ ได้แก่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่
ลำปาง ลำพูน และพะเยา ที่อำเภอเชียงคำ และ อำเภออื่นๆ
มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อขึ้นที่วัดหย่วน
อยู่ห่างจากวัดแสนเมืองมาไปทางเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร
ภายในศูนย์วัฒนธรรมมีการจัดแสดงความเป็นมาของชาวไทลื้ออย่างละเอียดครบถ้วน
วัดแสนเมืองมาตั้งอยู่ที่บ้านมาง ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำใกล้กับสถานีขนส่งเชียงคำ
เป็นวัดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อเดินทางมาถึงเชียงคำแห่งนี้
วัดหย่วน
ที่วัดหย่วนเป็นศูนย์กลางแสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ
และเป็นศูนย์ฝึกอาชีพโดยเฉพาะผ้าทอไทลื้อ ซึ่งมีลวดลายสีสันสดใสสวยงาม
ในอดีตชาวไทลื้อมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนาประเทศจีน กินอาณาบริเวณถึง ๒๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาและลุ่มแม่น้ำ
เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยทำกินของไทลื้อ
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านแคว้นสิบสองปันนา ชาวไทลื้อเรียกว่า
แม่น้ำของ ชาวไทลื้อมีนิสัยรักสงบ ขยัน อดทน และยังอนุรักษ์วัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม การแต่งกายไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ที่ตั้งของวัดหย่วนอยู่ไม่ไกลจากวัดแสนเมืองมาและสถานีขนส่งมากนัก
อยู่ทางทิศเหนือห่างกันเพียง ๕๐๐ เมตรโดยประมาณ
อนุสรณ์ผู้เสียสละ
พทต. ๒๓๒๔
อนุสรณ์สถานเป็นเสาห้าเหลี่ยมสีเขียว
ด้านหน้าเป็นลานครึ่งวงกลม ด้านหลังเป็นพื้นที่อาคารนิทรรศการ เป็นอาคารชั้นเดียว
จัดแสดงภาพถ่ายชุดแต่งกายทหาร อาวุธปืน ระเบิด และเครื่องเวชภัณฑ์ของ
ผกค.พร้อมทั้งแสดงรายชื่อพลเรือน ทหารและตำรวจ จำนวน ๓๙๙ คน ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในปี
พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๒๕ ในเขตพื้นที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย
มีการจำลองสถานที่สนามรบแสดงให้เห็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือด
ให้เห็นลักษณะภูมิประเทศในเขตต่างๆ เช่น อ.ปง และ อ.เชียงม่วน
มีฐานที่มั่นสำคัญคือ ดอยผาจิและดอยผาช้างน้อย
ฐานที่มั่นบนดอยภูลังกาและดอยน้ำสาเป็นต้น
สถานที่แห่งนี้เป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์การสู้รบกับคอมมิวนิสต์
เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ และทหาร ที่ตั้งอยู่ห่างจากอ.เชียงคำ ๓
กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ไปทางอ.จุน อนุสรณ์สถานอยู่ทางซ้ายมือหน้าค่ายขุนจอมธรรม
เปิดวันจันทร์- เสาร์ เวลา ๙.๐๐ น. - ๑๒.๐๐ น. , ๑๓.๐๐ น. –
๑๖.๐๐ น.
วัดพระธาตุดอยคำ
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดดอย ตำบลเจดีย์คำ อ.เชียงคำ
มีถนนลาดยางขึ้นไปจนถึงตัวองค์พระเจดีย์ได้เลย วัดแห่งนี้มีความสำคัญอยู่ที่
พระธาตุดอยคำที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ทั้งสี่ทิศมีสิงห์ปูนปั้นประดับอยู่
พระธาตุองค์นี้เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงคำมาอย่างยาวนาน
ตามตำนานของพระธาตุกล่าวเอาไว้ว่า
พญาคำแดงได้นำเอาผอบบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้บนยอดดอยแห่งหนึ่งและก่ออิฐเป็นรูปเจดีย์ทับไว้
ตำนานได้เล่าว่าในกาลต่อมาได้มีหญิงม่ายไปพบแท่งทองคำขนาดใหญ่ระหว่างภูเขาสองลูกเข้า
เมื่อเรื่องไปถึงหูของพญาผู้ครองเมืองก็เกิดความละโมบสั่งให้ตัดแท่งทองคำ
แต่แท่งทองคำกลับหายเข้าไปในภูเขา ซึ่งทำให้ได้พบกับพระเจดีย์ธาตุ
และเป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกองค์พระธาตุว่า "พระธาตุดอยคำ”
จากสี่แยก
ธ.กสิกรไทยและโรงแรมเชียงคำ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๑๐
ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตรก็จะมาถึงวัดพระธาตุดอยคำ
เป็นจุดหนึ่งที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ของเชียงคำได้อย่างสวยงาม
บ้านไทลื้อเชียงคำ
ชาวไทลื้อใน อ.เชียงคำมีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย
บ้านเรือนตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทลื้อคือ
จะมีบ่อน้ำไว้ประจำในแต่ละบ้าน
และทุกบ้านจะมีการปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย
ชาวไทลื้อจะประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เมื่อหมดฤดูทำนาแล้ว
ผู้หญิงชาวไทลื้อจะพากันทอผ้า ถือว่าผ้าทอไทลื้อมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้จากผ้าทอที่ใดๆ
บ้านเรือนไทลื้อที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง มีให้แวะชม
ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างสถานีตำรวจเชียงคำมุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุสบแวน
ผ่านตลาดไปเล็กน้อย จะพบกับเรือนไทลื้อที่สมบูรณ์แบบแห่ง อ.เชียงคำ อยู่ทางซ้ายมือ
ตลาดเช้าเชียงคำ
ตลาดเช้าในเชียงคำ
บรรยากาศเรียบง่าย อยู่ใกล้ๆกับที่ว่าการอำเภอเชียงคำและไปรษณีย์
อาหารพื้นเมืองมีมากมาย แหนมซี่โครงที่ขึ้นชื่อมีขายที่ตลาดแห่งนี้
ก่อนจะเดินทางไปไหว้พระธาตุต่างๆหรือชมบ้านไทลื้อ น่าจะมาซื้อจับจ่าย
ชมแหล่งอาหารของชาวเชียงคำกันก่อน ร้านชากาแฟ น้ำเต้าหู้ มีอยู่รอบๆตลาด
ไม่ควรพลาดตลาดเช้าของชาวเชียงคำ
อ.ภูซาง
ตามข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงอุทยานแห่งชาติภูซาง
ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
อุทยานแห่งชาติภูซาง
มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๒๘๔.๘ ตารางกิโลเมตร (๑๗,๘๐๔๙.๖๒ ไร่)
อยู่ในเขตอำเภอเทิง จ.เชียงราย อ.ภูซาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา อุทยานแห่งชาติภูซาง
เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนบน
มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทั้งทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า
ก่อให้เกิดสถานที่สวยงามตามธรรมชาติมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ภูเขา ถ้ำ
และบรรยากาศของยอดดอยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้เข้ามาสัมผัส
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้
ตามชายแดนไทย-ลาว มีแนวติดต่อกับประเทศลาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๔๔๐ เมตร ถึง ๑๕๔๘ เมตร ประกอบไปด้วยป่าเบญจพรรณ
เต็งรัง ป่าดิบแล้ว ป่าดิบเขา และป่าสนเขา มีพรรณพืชหลากหลาย
จากการสำรวจพบสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น เลียงผา หมูป่า ไก่ป่า เก้ง ลิง
และนกกว่า ๑๕๐ ชนิด สัตว์ที่สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติภูซางคือ
เต่าปูลู ที่มีถิ่นในภาคเหนือตอนบน เต่าปูลูเป็นเต่าที่หาได้ยาก สถานภาพใกล้สูญพันธ์
มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือตอนบน แนวเขตติดต่อกับประเทศพม่าและจีนตอนใต้
ลักษณะเฉพาะคือ ตัวเตี้ย กระดองสีเขียวเข้มถึงดำ ยาวประมาณ ๑๕-๒๐ ซม. หัวโตและแบน
คอยาว นิ้วยาว เล็บแหลมคมและที่เด่นคือ หางเป็นปล้องยาวกว่ากระดอง
หดหัวขาและหางไม่ได้ แต่สามารถปีนป่ายได้เก่งโดยอาศัยเล็บและหางช่วยยัน
เต่าปูลูออกหากินเวลากลางคืน กินกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่ชอบกินพืช
กลางวันมักจะหลบอยู่ตามซอกหิน หน้าหนาวจำศีลเหมือนกบ
วางไข่ช่วงปลายเดือนเมษายนครั้งละ ๓-๔ ฟอง
แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอุทยานแห่งชาติภูซาง
เป็นน้ำตกชั้นเดียวซึ่งตกลงสู่แอ่งเบื้องล่าง สูงประมาณ ๒๕ เมตร
จุดเด่นของน้ำตกคือ เป็นน้ำตกที่มีกระแสน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ ๓๕ องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ทางตอนเหนือของน้ำตกภูซาง ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
มีจุดเด่นอยู่ที่บ่อซับน้ำอุ่นและป่าพรุน้ำจืด
ซึ่งบ่อซับน้ำอุ่นเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกภูซาง มีลักษณะเป็นธารน้ำอุ่นผุดจากใต้ดิน
มีสภาพโดยรอบเป็นป่าพรุน้ำจืด เต็มไปด้วยแมกไม้นาๆพรรณที่หาดูได้ยาก
น้ำตกภูซางอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ ๓๐๐ เมตร
และเส้นทางสายนี้ยังสามารถเดินทางต่อไปยังบ้านฮวก ตลาดการค้าชายไทย-ลาว
และภูชี้ฟ้า ซึ่งห่างจากอุทยานแห่งชาติภูซางประมาณ ๔๕ กิโลเมตร
ถ้ำผาแดง
มีความลึกประมาณ ๔๕๐ เมตร ภายในมีหินงอก หินย้อย ที่สวยงาม
นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียง ยังมีถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นถ้ำขนาดเล็ก มีธารน้ำไหลผ่าน
และยังมีถ้ำที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ ถ้ำน้ำดั้น
เส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยเมี้ยง
ตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานที่ ๔ (บ้านฮวก) มีทั้งหมด ๑๒ สถานี
ระยะทาง ๑๒๐๐ เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง
มีจุดเด่นที่สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าดิบเขาที่มีสภาพสมบูรณ์
และบริเวณนี้เองที่เป็นแหล่งอาศัยของเต่าปูลู
อุทยานแห่งชาติภูซางมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการ มีสถานที่กางเต็นท์
มีเต็นท์และบ้านพักไว้บริการใกล้กับน้ำตกภูซาง มีร้านค้าสวัสดิการของอุทยานอยู่ใกล้ๆอีกด้วย
สำหรับผู้จะมาท่องเที่ยวเป็นคณะ ประชุม สัมมนา
ทางอุทยานฯมีอาคารอเนกประสงค์ไว้คอยบริการแก่คณะนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อได้ที่
เบอร์โทร. ๐-๕๔๔๐-๑๐๙๙ www.dnp.go.th
ตลาดนัดชายแดนไทย-ลาว
(บ้านฮวก)
บ้านฮวกเป็นหมู่บ้านชายแดนติดกับประเทศลาว
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูซางไปเพียง ๕ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านฮวก
เป็นเนินเขา มีลำน้ำเปื๋อยไหลผ่าน ชาวบ้านใช้เพื่อการเกษตรตลอดปี
บ้านฮวกเป็นหมู่บ้านเล็กๆมีประมาณ ๑๕๐ ครัวเรือน
ด้านที่ติดกับลาวนั้นเป็นแขวงไชยบุรี เมื่อปี ๒๕๓๗
ได้มีการเปิดจุดผ่อนปรนชายแดนที่กิ่วหก บ้านฮวก
เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้ติดต่อค้าขายกัน
จึงเกิดเป็นตลาดนัดการค้าชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและพืชผลทางการเกษตร
ในทุกเดือนจะมีตลาดนัดเพียง
๒ วัน คือวันที่ ๑๐ และ ๓๐ เป็นวันที่ประชาชนชาวลาวข้ามมาค้าขายจับจ่ายมากถึงวันละ
๖๐๐-๗๐๐ คน จุดผ่อนปรนที่ชายแดนเปิดตั้งแต่ตี ๕ เป็นต้นไป
วันอื่นๆตลาดนัดไม่ค่อยพลุกพล่าน มีเพียงรถบรรทุกสินค้าและชาวลาวเข้ามาทำธุระเพื่อผ่านไปยังอำเภอเชียงคำ
ร้านค้าประจำยังเปิดอยู่ตามปกติ สินค้าพวกผ้าทอ ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ราคาไม่แพงนัก
มีจำหน่ายที่บ้านฮวกแห่งนี้ จากเชียงคำใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ มุ่งหน้าไป อำเภอเทิง
จ.เชียงราย ผ่านตลาดสบบงไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาเข้าไปทางอำเภอภูซาง
จากนั้นไปอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร
จะมีป้ายบอกตรงจุดสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๓
ผ่านวัดหนองเลาและอุทยานภูซาง จากนั้นก็ตรงไปสู่บ้านฮวก
เส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางที่ใช้ผ่านไปยังภูชี้ฟ้าอีกเส้นทางหนึ่ง ช่วงหน้าหนาวจะคึกคักมากเป็นพิเศษ
ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาเยือนบ้านฮวกแห่งนี้ ที่พักและโฮมสเตย์
สามารถสอบถามชาวบ้านได้ มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน
วัดพระธาตุภูซาง
เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อเดินทางมาเยือนน้ำตกภูซาง
และตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว บ้านฮวก ก่อนถึงที่ทำการอุทยานภูซางเล็กน้อย ประมาณ ๑
กิโลเมตร ด้านขวามือจะมีทางแยกขึ้นไปสู่วัดพระธาตุภูซาง
วัดแห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเหนือ
เป็นที่เคารพและสักการะของประชาชนตำบลภูซาง
และตำบลใกล้เคียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสงบร่มรื่น ภายในบริเวณมีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นอยู่มากมาย
และเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดและโรคเอดส์
นอกจากนี้ยังมีสวนสมุนไพรมากมายหลายชนิด
ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ได้อีกด้วย บรรยากาศสงบ
มองเห็นวิวทิวทัศน์อย่างสวยงามได้โดยรอบจากพระธาตุแห่งนี้
วัดพระธาตุขุนบง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น