วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ที่เที่ยวอ.ภูกามยาว อ.ปง อ.จุน


รวมที่เที่ยว จ.พะเยา

อ.ภูกามยาว
ภูกามยาวอยู่ห่างจากเมืองพะเยาเพียง ๑๔ กิโลเมตร เป็นอำเภอที่เล็กที่สุดใน จ.พะเยา แต่ในอดีตนั้นคือชื่อเดิมของ จ.พะเยา การเดินทางไปมาสะดวก ใช้เวลาเพียงสั้นๆที่ภูกามยาวมีวัดสำคัญอยู่ ๒ แห่งและมีกลุ่มตีมีดบ้านดงเจน ที่มีครอบครัวตีมีดสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นอาชีพหลักนับสิบครัวเรือน ในช่วงฤดูฝนจะมีเห็ดป่านำมาขายใกล้ๆกับบ้านดงเจนตลอดเส้นทาง
วัดพระธาตุปูปอ
ชาวพะเยาถือว่า วัดพระธาตุปูปอเป็นวัดพี่น้องกับวัดศรีโคมคำ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะมีประเพณีการรดน้ำพระธาตุเป็นประจำ พระธาตุปูปอเป็นพระธาตุทรงแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก สีขาว อยู่ใกล้ๆกับโบสถ์ พระธาตุปูปอตั้งอยู่ที่บ้านสันป่ากอก ต.ดงเจน ห่างจากเมืองพะเยาเพียง ๗ กิโลเมตร

วัดพระธาตุดอยจุก
พระธาตุดอยจุกเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ศิลปะล้านนา มีซุ้มจระนำทั้งแปดทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประธานพร ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาพัก ณ บริเวณที่ตั้งของพระธาตุ ซึ่งที่แห่งนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า ดอยจุก หมายถึง หยุด วัดพระธาตุดอยจุกตั้งอยู่บนเขาที่ อ.ดงเจน ทางเข้าวัดอยู่เลยจากทางเข้าวัดพระธาตุปูปอไปประมาณ 1.5 ก.ม. อยู่ทางซ้ายมือ เมื่อเดินทางมาจากเมืองพะเยา

อ.จุน

วัดพระธาตุขิงแกง
เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของอำเภอจุน ห่างจากตัวอำเภอจุน ๘ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ จุน-ปง ก่อนถึงโรงเรียนบ้านธาตุขิง พบทางแยกเข้าวัดทางขวา ให้เลี้ยวเข้าไปประมาณ ๒๐๐ เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ ตั้งอยู่บนเนินเขา มีเนื้อที่กว้าง บรรยากาศสงบร่มรื่น พระธาตุชิงแกงเป็นเจดีย์ทรงล้านนาขนาดใหญ่ ฐานกว้างด้านละ ๑๕ เมตร สูง ๒๐ เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มเรือนแก้วทั้งสี่ด้าน ช่วงกลางองค์เจดีย์ประดับกระจกสี มีกำแพงแก้วล้อมรอบและเจดีย์บริวารทั้งสี่มุม

โบราณสถานเวียงลอ
สถานที่ตั้งของโบราณสถานเวียงลอห่างจากตัวอำเภอจุนไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ถึงบ้านห้วยงิ้วประมาณ ๑๗ กิโลเมตร มีทางแยกเป็นทางเดินถึงบ้านน้ำจุนอีก ๑๒ กิโลเมตร มีทางแยกเป็นทางเดินถึงบ้านน้ำจุนอีก ๑๒ กิโลเมตร ปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า วัดร้างอยู่มากมาย พระธาตุและวัดเก่าแก่คือ วัดศรีปิงเมือง เมืองลอหรือเวียงลอ มีคูเมืองและกำแพงคันดิน ๑-๒ ชั้น ล้อมรอบ ตั้งอยู่ที่ราบระหว่างเชิงดอยจิกจ้องและแม่น้ำอิง
ประวัติและผังเมืองของโบราณสถานเวียงลอ
ลักษณะผังเมืองเป็นรูปค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๕๐๐ เมตร มีแม่น้ำอิงไหลผ่านแนวกำแพงด้านทิศใต้ และแม่น้ำอิงที่เปลี่ยนทางเดินไหลผ่านกลางเมือง จากทิศใต้ไปยังมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แนวกำแพงเมืองเป็นคันดินไม่สูงนัก บางส่วนมีร่องรอยการก่ออิฐเสริมด้วยคูเมืองส่วนใหญ่ตื้นเขิน ภายในตัวเมืองมีบ่อน้ำกรุอิฐจำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ทำไร่ข้าวโพดและเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่เดิมภายในเมืองลอ มีวัดร้างกว่า ๕๐ วัด ตามวัดร้างจะพบพระพุทธรูปหินทรายและพระพุทธรูปทองสำริดจำนวนมาก แต่ถูกทำลายลงไปเกือบหมดแล้ว ที่สำคัญคือ วัดพระธาตุหนองห้าเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนลาดชายเนินเขา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงคล้ายพระธาตุเจดีย์ที่วัดลีเมืองพะเยา ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานว่า ๙๐๐ ปี ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก พบที่วัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดร้างในเวียงลอ ข้อความในจารึกกล่าวถึงเจ้าหมื่นล่อเทพศรีจุฬาสร้างวัดใหม่เมื่อ จ.ศ. ๘๕๙ (พ.ศ. ๒๐๔๐) ถวายเป็นพระราชกุศลแก่มหาเทวีเจ้าและพระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และกล่าวถึงอาณาเขตวัดนี้ให้อยู่ในพื้นที่ตะวันออกจรดฝั่งแม่น้ำด้านใต้จรดคูเมืองชั้นนอก (คือเวียง) ด้านตะวันตกออกห่างไปร้อยวา ด้านเหนือจรดคูเมืองและด้านท้ายของจารึกยังบอกว่า ผู้ใดมาครองเมืองลอต่อไปขอให้บำรุงพระพุทธศาสนาและวัดใหม่นี้สืบไปอย่าได้ทำลาย ความในศิลาจารึกกล่าวชี้ให้เห็นว่า เวียงลอ หรือเมืองล่อ เป็นเมืองโบราณที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบอย่างน้อย สองชั้นและชื่อเมืองลอ (เมืองล่อ) ก็เป็นชื่อเรียกกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ และเมืองลอสร้างก่อนปีที่สร้างวัดป่าใหม่นี้ หรือก่อน พ.ศ. ๒๐๔๐
ในสมัยล้านนา เวียงลอเป็นเมืองสำคัญอยู่ระหว่างเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองเชียงแสน เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองพะเยา และเมืองน่าน ล้านช้าง ดังปรากฏในตำนานพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาล เมืองน่านว่า ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. ๑๙๙๓ คราวที่เสด็จไปตีเมืองน่าน ยกทัพผ่านเมืองลอและตั้งขุนนางครองเมืองลอ ด้วยเวียงลอยิ่งมีความสำคัญและมีผู้คนอยู่อาศัยมาตลอดสมัยล้านนาและแม้ว่าล้านนาจะตกอยู่ในอำนาจพม่า แต่พม่ายังให้ความสำคัญโดยเจ้าเมืองลอ มีฐานะเท่าเจ้าเมืองสาดและให้เมืองลอขึ้นกับเมืองพะเยาในสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๒๒ พระยากาวิละได้กระทำการไถ่โทษโดยการตีเอาเมืองลอและเมืองเทิง กวาดต้อนผู้คนมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งความในตำนานกล่าวชี้ให้เห็นว่า เมืองลอยังเป็นเมืองสำคัญและมีผู้คนอยู่อาศัยมาโดยตลอด จนถึงสมัยกรุงธนบุรี สันนิษฐานว่าเมือง ละจะร้างผู้คนและหมดความสำคัญลงในคราวที่พระยากาวิละยกทัพไปตี และกวาดต้อนผู้คนลงไปทั้งหมดนั่นเองสมัยพระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าปกครองนครน่านได้ให้ขุนหลวงไชยสถานนำไพร่พลออกมาตั้งบ้านเรือนใหม่เรียกว่า เมืองจุนหลังจากที่เมืองลอเสื่อมลง ขุนหลวงไชยสถานก็ได้รวมเอาเมืองลอไว้ด้วยกันในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมืองลอ เมืองจุน เมืองเทิง นครน่าน เชียงของ รวมกันเป็นเขตการปกครอง นครน่านเหนือ รวมเมืองพาน แม่สรวย เวียงป่าเป้า เชียงราย เชียงแสน แม่จัน ยุบเมืองลอ เมืองจุนเป็นตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครองเป็นมณฑลพายัพเหนือ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๖ กระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นตำบลลอ ตำบลจุนเป็นกิ่งอำเภอ ให้อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย ต่อมาวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็น อำเภอจุนจังหวัดเชียงราย จนถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๐ ได้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ คือ จังหวัดพะเยา ให้อำเภอจุนอยู่ในเขตปกครองของจังหวัดพะเยา นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
โบราณสถานเวียงลอกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก ตั้งอยู่บนสองฝั่งลำน้ำอิง การจะชมให้ทั่วถึงนั้นต้องใช้เวลามากและการเดินทางที่ไกล รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่โบราณสถานจุดสำคัญต่างๆได้ พาหนะที่เหมาะสมมากๆคือจักรยาน ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิตอันสวยงามอีกด้วย ถ้ามีจักรยานควรติดไปด้วยเมื่อมาถึงโบราณสถานเวียงลอ รับรองจะเพลิดเพลิน สนุกและมีความสุขกับการมาเยือนโบราณสถานเวียงลอแห่งนี้




เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ
มีเนื้อที่ครอบคลุม ๔ อำเภอ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ และอำเภอปง เนื้อที่ทั้งหมด ๒๓๑,๘๗๕ ไร่ ภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบ ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายาก เช่น เลียงผา, กวาง, นกยูง, เนื้อทราย, ละอง, ละมั่ง, ไก่ฟ้าหลังขาว, นกแว่นสีเทา
กิจกรรมท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจ เดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม จะมีลานนกยูงผสมพันธุ์ ซึ่งสามารถเข้าชมและติดตามนกยูงได้เป็นกลุ่มคณะ ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ฤดูแล้งยังมีกิจกรรมตามรอยละมั่ง ณ ที่แห่งนี้มีนกยูงอาศัยอยู่เยอะมาก ชาวบ้านที่อยู่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จึงมีรายได้พิเศษจากการดูแลนกยูงอีกด้วย เป็นการอนุรักษ์อีกอย่าง ถ้าต้องการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและติดตามการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงที่พัก ติดต่อที่เบอร์โทรของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ ๐๕๔-๔๒๑๕๕๗ เจ้าหน้าที่และงบประมาณยังไม่ค่อยเพียงพอต่อการบริการในเชิงท่องเที่ยว ดังนั้นโปรดโทรติดต่อสอบถามข่าวคราวและความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง ที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อยู่ห่างจากอำเภอจุน ๕ กิโลเมตรบนเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ ไปทางอำเภอปง และเลี้ยวขวาเข้าไปสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ ประมาณ ๓ กิโลเมตร จะถึงที่ทำการ


อ.ปง
วนอุทยานภูลังกา
จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วนอุทยานภูลังกา ดอยภูลังกาภาษาชาวเขา เผ่าเมี่ยน เรียกว่า ฟินจาเบาะหมายความว่า ภูเทวดาเป็นยอดดอยที่สวยงาม มีความสูง ๑,๗๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงที่สุดในเทือกเขาสันปันน้ำ ไทย-ลาว ด้านทิศเหนือมีพื้นที่ประมาณ ๗,๘๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลผาช้าง อำเภอปง จ. พะเยา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำยม มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ชมทะเลเมฆหมอก ดวงอาทิตย์ขึ้นลงและดอกไม้ป่าสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว มีถ้ำหลบภัยของ ผกค.ในอดีต มีน้ำตกสวยงาม นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้หายากเช่น ต้นชมพูภูพาน เนียมแดง เอื้องสีตาล ข่าดอกแดง สัตฤาษี เป็นต้น สำหรับสัตว์ป่ามีจำนวนมากกว่า ๑๐๐ ชนิด เช่น เสือโคร่ง หมี กวาง เก้ง หมูป่า งูจงอาง ผีเสื้อ เป็นต้น
สำหรับนกป่าประจำถิ่นและนกอพยพ ซึ่งสวยงามมีมากกว่า ๒๐๐ ชนิด เช่น นกพญาไฟ นกเป้า เป็นต้น จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด ๗ องศา สูงสุดเฉลี่ย ๓๕ องศา มีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝนจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วนอุทยานภูลังกา ดอยภูลังกาภาษาชาวเขา เผ่าเมี่ยน เรียกว่า ฟินจาเบาะหมายความว่า ภูเทวดาเป็นยอดดอยที่สวยงาม มีความสูง ๑,๗๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงที่สุดในเทือกเขาสันปันน้ำ ไทย-ลาว ด้านทิศเหนือมีพื้นที่ประมาณ ๗,๘๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลผาช้าง อำเภอปง จ. พะเยา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำยม มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ชมทะเลเมฆหมอก ดวงอาทิตย์ขึ้นลงและดอกไม้ป่าสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว มีถ้ำหลบภัยของ ผกค.ในอดีต มีน้ำตกสวยงาม นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้หายากเช่น ต้นชมพูภูพาน เนียมแดง เอื้องสีตาล ข่าดอกแดง สัตฤาษี เป็นต้น สำหรับสัตว์ป่ามีจำนวนมากกว่า ๑๐๐ ชนิด เช่น เสือโคร่ง หมี กวาง เก้ง หมูป่า งูจงอาง ผีเสื้อ เป็นต้น สำหรับนกป่าประจำถิ่นและนกอพยพ ซึ่งสวยงามมีมากกว่า ๒๐๐ ชนิด เช่น นกพญาไฟ นกเป้า เป็นต้น จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด ๗ องศา สูงสุดเฉลี่ย ๓๕ องศา มีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
๑.ยอดดอยภูลังกา มีความสูงประมาณ ๑,๗๒๐ เมตร สามารถเฝ้าชมวิวทะเลเมฆหมอก ดอกไม้ป่า ชมอาทิตย์ขึ้นลงท่ามกลางทะเลภูเขาสวยงามมาก นอกจากนี้ยังสามารถสัมผัสอากาศเย็นสดชื่นสบายตลอดปี
๒. ยอดดอยภูลม มีความสูงประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร สามารถชมวิวได้ ๓๖๐ องศา นอกจากนี้สามารถใช้มุมมองในลักษณะจินตนาการรูปร่าง ๓ มิติ คล้ายกำแพงเมืองจีน คล้ายลิงกอริลล่าและคล้ายนมสาว
๓. ทุ่งดอกโคลงเคลง เป็นต้นไม้พุ่ม ดอกสีม่วง มีลักษณะสวยงาม ออกดอกบานสพรั่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว และช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขึ้นรวมกันเป็นทุ่งกว้างและกระจัดกระจายทั่วไปในวนอุทยานภูลังกา
๔. น้ำตกภูลังกา เป็นน้ำตก น้ำใสเย็น มี ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ มีความสูง ๓๐ เมตร ชั้นที่ ๒ มีความสูง ๒๐ เมตร มีความสวยงามในช่วงฤดูฝน
๕. ลานหินล้านปี มีสภาพเป็นลานหินบนสันดอยภูลังกา มีมอสเกาะตามหิน โดยมีดอกไม้ป่าขึ้นกระจายสวยงาม เช่น ต้นบีโกเนีย, กล้วยไม้ป่า, ชมพูภูพาน, โคลงเคลง, เทียนป่า, ละตาเหินไหว เป็นต้น สวยงามมากช่วงปลายฝนต้นหนาว
๖. หินแยงฟ้า เป็นแท่งหินยื่นโผล่ขึ้นไปบนฟ้า อยู่ปลายสุดของยอดดอยภูลังกา
๗. ป่าก่อโบราณ เป็นสภาพป่าดิบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์พืชสมุนไพรและต้นก่อขนาดใหญ่จำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมพันธุ์พืช ดอกไม้ป่า กล้วยไม้ป่า และชมนกได้อย่างสนุกตื่นเต้น โดยเฉพาะปลายฝนต้นหนาว
๘. ร่องรอยตำนานคอมมิวนิสต์ในอดีต ดอยภูลังกาในอดีต เป็นฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์ ยังมีสนามเพลาะ หลุมระเบิด และถ้ำหลบภัย หลงเหลือให้ได้ดูชม
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
วนอุทยานภูลังกามีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ เส้นทางปั่นจักรยาน เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมนก ชมป่าธรรมชาติ สำหรับที่พักและลานกางเต็นท์มีจำนวนจำกัด ควรติดต่อกับวนอุทยานภูลังกาก่อนล่วงหน้า เส้นทางในเขตวนอุทยานเป็นเส้นทางดินแดงขึ้นเขาสูงแคบ ชัน โค้งคดเคี้ยว ขึ้นได้เฉพาะรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น รถยนต์ธรรมดาสามารถขึ้นได้ถึงห้องเรียนธรรมชาติของวนอุทยานภูลังกาและสามารถเดินป่าตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติได้ ในเขตอุทยานไม่มีไฟฟ้า ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ส่องสว่างให้พร้อม วนอุทยานภูลังกาเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น.
การเดินทางสู่วนอุทยานภูลังกา
จาก จ.พะเยา ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ ผ่านอำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน จนถึงอำเภอเชียงคำ เปลี่ยนเส้นทางไปใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๑๔๘ ระยะทางการเดินทางจากจังหวัดพะเยาถึงวนอุทยานภูลังกาประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร จากจังหวัดเชียงรายตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๐ ผ่าน อ.เทิง จนถึง อ.เชียงคำ ต่อจากเชียงคำใช้เส้นทางดังกล่าวข้างต้น ระยะการเดินทางประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตร
ที่ตั้งของวนอุทยานภูลังกา
อยู่ที่ตำบลผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา โทร. ๐๘๑-๘๘๒๐๓๐๗ สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ๑๕ ถนนสิงหไคล ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย โทร. ๐๕๓-๗๑๑๔๐๒

 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า
เป็นพื้นที่พัฒนาเกษตรที่สูง มีสิ่งที่น่าสนใจภายในศูนย์คือพืชผักเมืองหนาว ซึ่งมีการปลูกตามไหล่เขา เป็นพืชล้มลุกและยืนต้น เช่น ฟักทองญี่ปุ่น ซุกินี หอมญี่ปุ่น มะเขือก้านดำ ขิงแดง อโวคาโด ท้อ พลับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกดอกไม้หลากสีอีกหลายชนิด ทิวทัศน์รอบบริเวณสวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดปี ในบริเวณใกล้เคียงมีชุมชนของชาวม้ง และชาวเมี่ยน หรือเย้าอยู่ใกล้ๆ หากไปเยือนในช่วงเทศกาลสำคัญจะได้พบเห็นกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าอีกด้วย
จากอำเภอเชียงคำ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๔๘ ไปทางอำเภอสองแคว จ.น่าน ผ่านแยกทุ่งหล่มและโรงเรียนราชานุเคราะห์ไปประมาณ ๒ กิโลเมตร พบทางแยกซ้ายมือ ให้เลี้ยวเข้าไปผ่านศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ศูนย์ฯ อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันกับเส้นทางไปวนอุทยานภูลังกา ซึ่งจะเลยจากศูนย์ฯไปอีกเล็กน้อย ที่ศูนย์ฯแห่งนี้มีการให้บริการบ้านพักอีกด้วย มีเต็นท์ให้เช่า มีห้องอาบน้ำและสุขา ควรเตรียมอาหารและน้ำไปด้วย หากต้องการพัก ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า ติดต่อ ๐-๕๔๔๐-๑๐๒๓ หรือมูลนิธิโครงการหลวง โทร. ๐-๕๓๘๑-๐๗๖๕ หรือสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง โทร. ๐-๕๓๘๑-๐๑๑๑


 วัดพระธาตุดอยหยวก
วัดพระธาตุดอยหยวกตั้งอยู่บนเนินเขา บรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เป็นวัดสำคัญของอำเภอปง พระธาตุมีลักษณะงดงามมาก เป็นศิลปะเฉพาะของพะเยา เจดีย์สีทอง มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ประดับกระจกสีตามซุ้มและฐานองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นฉัตรทองที่มุมทั้งสี่มีเจดีย์บริวาร วิหารเป็นทรงล้านนา หลังไม่ใหญ่แต่งดงามมีเสน่ห์ เป็นศิลปะแบบทางเหนือ หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด หน้าบรรณแกะสลักเป็นลายพรรณพฤกษาและดอกแก้ว ใบระกามีสีทอง หางหงส์เป็นไม้แกะสลักรูปพญานาคสีเขียว เชิงเทินเป็นไม้แกะสลักรูป ๑๒ นักษัตรและรูปช้าง ตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมายังดอยภูเติม พญานาคที่รักษาดอยนี้คิดว่าพระองค์เป็นพญาครุฑ จึงแทรกกายหนี ครั้นได้ฟังธรรมจากพระองค์ พญานาคก็เกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์จึงมอบพระเกศาให้ และตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว ให้นำกระดูกริมตาขวามาไว้รวมกับพระเกศานั้น กาลข้างหน้าจะมีชื่อว่าพระธาตุภูเติม จึงมีการสร้างพระธาตุและบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุที่เป็นกระดูกตาขวาไว้ภายใน ต่อมาเรียกภายหลังว่า พระธาตุดอยหยวก
ที่ตั้งวัดพระธาตุดอยหยวกอยู่ที่บ้านหนุน ต.ปง อ.ปง การเดินทางจากอำเภอจุนใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ ไปทางอ.ปง ผ่านตัวอำเภอไปประมาณ ๔.๕ กิโลเมตร วัดอยู่ทางขวามือ ริมทางหลวง จากอำเภอเชียงม่วนมุ่งหน้าสู่อำเภอปง ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตรถึงวัดพระธาตุดอยหยวก ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๑ ก่อนถึงอำเภอปง ๔.๕ กิโลเมตร วัดพระธาตุดอยหยวกอยู่ทางซ้ายมือริมทางหลวง

จุดกำเนิดแม่น้ำยม
ลำน้ำยมมีจุดกำเนิดบนยอดดอยสูงจากวนอุทยานภูลังกา เป็นสายน้ำที่ไหลลงมาทางตัวอำเภอปง ชื่อ ลำน้ำงิม และมาบรรจบกับลำน้ำควร กลายเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำยม ซึ่งจุดนี้อยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอปงมากนัก จะมีป้ายบอกหรือสอบถามชาวบ้านก็ได้ ห่างจากถนนเมนของตัวอำเภอประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะได้พบกับจุดที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น