สวัสดีค่ะวันนี้แจ๊สจะชวนเพื่อนๆ ตามไปไหว้พระทำบุญที่วัดนันตารามกันนะคะ วัดนันตารามสวยงามและแตกต่างจากวัดทั่วไป เนื่องจากตัวพระวิหารสร้างตามสถาปัตยกรรมของชาวไทยใหญ่แบบพม่า โดยวิหารจะสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังสวยงามมากๆเลยนะคะ
วัดนันตาราม ตั้งอยู่ที่อ.เชียงคำ จ.พะเยา ในตัวตลาดเชียงคำเลยค่ะ ใกล้ๆกับห้างเทสโก้ โลตัส สาขาเชียงคำ เดิมชื่อว่า “วัดจองคา” หรือ “วัดจองเหนือ” เพราะมุงด้วยหญ้าคา (คำว่า จอง เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึงวัด) ตามตำนานเล่ากันว่า บริเวณวัดแห่งนี้ในสมัยก่อนเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ชาวบ้านมักจะเห็นดวงไฟผุดขึ้นเหนือบริเวณแห่งนี้ในคืนวันเพ็ญ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่าเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ ต่อมามีพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยใหญ่เดินทางเข้ามา ชาวบ้านก็เลยร่วมกันสร้างเรือนไม้ทรงไทยใหญ่ถวายเป็นที่พำนักแก่พระภิกษุเหล่านั้น ต่อมามีพระภิกษุสงฆ์มากขึ้นและเริ่มมีผู้คนรู้จักและนำอาหารมาถวายพระภิกษุมากขึ้น ชาวบ้านก็เลยร่วมกันสร้างเป็นวัดขึ้นมา
วัดนันตารามเป็นวัดประจำชุมชนชาวไทยใหญ่ สร้างขึ้นโดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยใหญ่ โดยพ่อหม่องโพธิ์ขิ่น เป็นผู้บริจาคที่ดิน เนื้อที่ ๓ ไร่เศษ ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างวัด และพ่อเฒ่าอุบล เป็นประธานในการก่อสร้างครั้งแรก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2467 พ่อเฒ่านันตาอู๋ วงศ์อนันต์ คหบดีอำเภอเชียงคำ ได้ชักชวนประชาชนร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดจองคาขึ้นใหม่ โดยแม่นางจ๋ามเฮิงได้บริจาคที่ดิน เนื้อที่ 5 ไร่ งาน 72 ตารางวา สำหรับขยายอาณาเขตของวัด รวมเนื้อที่วัดทั้งหมด 8 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา
จากนั้นพ่อเฒ่านันตาอู๋ วงศ์อนันต์ ผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้บริจาคทรัพย์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ และเป็นเจ้าภาพศรัทธาสร้างวิหารหลวง โดยให้นายช่างชาวพม่า ออกแบบก่อสร้างเป็นศิลปะแบบพม่า สร้างเป็นวิหารไม้ทั้งหลัง รูปแบบทรงไทย ทรงคาทรงเจตมุข หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงด้วยแป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) ปานต่อง และปานซอยเป็นลวดลาย และเทคนิคการฉลุไม้ ซึ่งถ้ามองจากภายนอกจะแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 จอง ได้แก่ จั่ว เป็นประธานสูงสุด เรียกว่า “จองพารา” ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบริเวณจองพาราจะเน้นเป็นพิเศษ เรียกว่า “ข่าป่าน” ส่วนจั่วต่ำสุด อยู่หน้ามุข เรียก “จองตก่าผก่ามะ” ที่นั่งสำหรับฆราวาส ส่วนจั่วที่แยกออกไปต่างหากทางทิศตะวันออก เรียกว่า “จองซักฆะ” หรือกุฏิที่พำนักของเจ้าอาวาส ภายในวิหารก็ยกพื้นสูงต่างระดับกันเป็น 3 ชั้น สูงสุดคือชั้นพุทธะ ลดลั่นลงมาคือชั้นพระสงฆ์ บริเวณด้านหน้าของพระพุทธรูปและจองซักฆะ เป็นระดับเดียวกัน ต่ำสุดเป็นที่นั่งอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งสัมพันธ์กับจั่ว หรือหลังคานั่นเอง มีเสาวิหารทั้งหมด 68 ต้น ลงรักปิดทองทั้งหมด 40 ต้น ส่วนเพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิศดารไม่ซ้ำกัน ประดับด้วยแก้วสี ใช้เวลาในการก่อสร้าง 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 – พ.ศ. 2477 ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 4,5000 บาท อัญเชิญพระประธาน พระประธานในวิหารปัจจุบัน ไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใด (คาดว่านำมาจากประเทศพม่า) พ่อเฒ่านันตาได้ว่าจ้างและไหว้วานชาวบ้านประมาณ ๘๐ คน อัญเชิญมาจากวัดจองเหม่ถ่า ซึ่งเป็นวัดร้างในชุมชนไทยใหญ่ เดิมที่อำเภอปง (ปัจจุบันเป็นสถานีอนามัยบ้านดอนแก้ว ตำบลออย อำเภอปง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทอง ทั้งต้นลงสักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่สวยงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๑ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศา ๙ ศอก ประดิษฐานบนฐานไม้ มีแผงไม้กั้นด้านหลังประดับประดากระจกสีที่สวยงาม ประกอบด้วยไม้ฉลุและแกะสลักลายเครือเถา เทวดาและสัตว์ป่าหิมพานต์ การจัดงานฉลองวัดครั้งแรก การปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัดจองคาครั้งใหญ่ใช้เวลาร่วม ๑๐ ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พ่อเฒ่า นันตา (อู๋) ได้เป็นประธานจัดงานฉลองครั้งใหญ่ขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๑๕ มีนาคม ๒๔๗๗ ๑๕ วัน ๑๕ คืน นอกจากการทำบุญและจัดมหรสพสมโภสแล้ว ยังมีการตั้งโรงทาน แจกจ่ายวัตถุทานแก่ยาจกวณิพกและคนยากจนทั่วไปจำนวนมากอีกด้วย นับเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่และเป็นครั้งแรกของวัดจองคำ พ่อเฒ่านันตาอู๋ ต้นตระกูล วงศ์อนันต์ คหบดีที่มีจิตใจศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งใจปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนมิได้ขาด มีความเพียรในการรักษาอุโบสถศีล นอนวัดตลอดฤดูพรรษา ทั้งยังเสียสละบริจาคทรัพย์ เป็นเจ้าศรัทธาในการปฏิสังขรณ์เสนาสนะและสร้างวิหารถวายเป็นสมบัติในพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยใหญ่แ ละประชาชนทั่วไปเป็นพ่อจองตะก่านันตา (คำว่า พ่อจอง หมายถึง ผู้สร้างวัด/ ตะก่า หมายถึง ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลและนอนวัดตลอดพรรษา) เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและเป็นอนุสรณ์ของพ่อเฒ่านันตาอู๋ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก วัดจองคา เป็น วัดนันตาราม เป็นเกียรติแด่ท่านและตระกูล “วงศ์อนันต์”
ภาพบรรยากาศภายในพระวิหารไม้สักอันวิจิตรประณีตสวยงามภายในวัดนันตาราม
หออูเตงหม่อง ภายในพระวิหารสร้างเป็นพิพธภัณฑ์จัดเก็บวัตถุโบราณของวัดนันตาราม ได้มีการเก็บสะสมโบราณวัตถุอันเก่าแก่ล้ำค่าไว้ภายในค่ะ
ภาพบรรยากาศภายนอกรอบๆพระวิหารไม้สักภายในวัดนันตาราม
รูปปั้นพระพิฆเนศ องค์งามสีชมพูมุก หน้าพระวิหารไม้้ค่ะ
ศาลาพระเจ้าทันใจ
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
องค์พระธาตุวัดนันตาราม
ปราสาทส.อุไร
ภายในสวยงามมากๆค่ะ มีเจ้าแม่กวนอิมให้สักการะบูชาและกราบขอพร และผนังภายในปราสาทส.อุไร ทั้งหมดเป็นผนังไม้สักฉลุลายวิจิตรสวยงามมากๆเลยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น